วช. หนุน DLET-Hub & PSDP-Hub จับมือ รร.นายร้อยตำรวจ ผนึกกำลังวิจัยสร้างศูนย์กลางความรู้-เครือข่าย พิชิตปัญหายาเสพติดด้วยนวัตกรรม
พลตำรวจโท ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานของ “ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด” ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน โดยศูนย์ทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ โดยมีบทบาทในการรวบรวมองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อนำไปเผยแพร่และขยายผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป การประชุมทางวิชาการในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์ PSDP-Hub กล่าวว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้รับการสนับสนุนทุนการทำกิจกรรม จาก วช. ในปีงบประมาณ 2566 จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดย ศูนย์ PSDP-Hub เป็นศูนย์กลางด้านความรู้ หรือ Hub of Knowledge เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกระบวนการสาธารณสุขและกระบวนการทางชุมชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ด้านยาเสพติดจากฐานข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานควบคู่ไปกับ DLET-Hub ศูนย์ DLET-Hub ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ หรือ Hub of Talents ที่ได้รวบรวมบุคลากรศักยภาพสูง จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งต่อไปยังผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนา หรือเวทีทางวิชาการ โดยทั้ง 2 ศูนย์ฯ มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร และเป็นพื้นที่คลังปัญญาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
การประชุมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และนักเรียน นักศึกษา
เพื่อร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงแนวทางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
No comments