Header Ads

การบริโภคยาสูบลดทั่วโลก พร้อมการสร้างสมดุลระหว่างการ ‘ช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่’ และ ‘ปกป้องเด็กและเยาวชน’


รายงานประจำปี 2024 ขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ระบุว่า ขณะนี้อัตราการใช้ยาสูบกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยมีผู้ใหญ่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบราว 1,250 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งลดลงกว่า 19 ล้านรายเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อน ทว่าจำนวนเด็กและเยาวชนที่อายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปีที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้นอยู่ที่ราว 37 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลไม่น้อย ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นส่วนผสมของมาตรการการควบคุมยาสูบ การรณรงค์งดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกในไม่กี่ปีให้หลังนี้


การใช้กฎหมายและมาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นหนึ่งในกลไกที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบเชิงลบในแง่ต่างๆที่อาจเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ US FDA ระบุว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้านั้นได้รับความนิยมสูง แต่ผลสำรวจชี้ว่า อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กมัธยมนั้นลดลงจากร้อยละ 14.1 ในปี 2022 เหลือร้อยละ 10.0 ในปี 2023 เช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่นที่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย ผลสำรวจระบุว่า อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นลดลงจากร้อยละ 23.4 สู่ร้อยละ 16.7 ในระยะเวลา 10 ปี โดยที่มีอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ร้อยละ 0.1 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้กฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมในการจัดการปัญหาและผลกระทบจากยาสูบ



ในบริบทของประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายและยังมีการให้ข้อมูลที่ไม่สมดุลนัก ทั้งนี้ การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมายนั้นต้องพิจารณาผลประโยชน์มวลรวมต่อสาธารณสุขของประเทศ (Net Public Health) อ้างอิงจาก UK Office for Health Improvement and Disparities (OHID) หรือ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยจะพิจารณาปัจจัยดังกล่าว และลดการสื่อสารที่อาจสร้างความเข้าใจผิดหรือความหวาดกลัวต่อบุหรี่ไฟฟ้าและนวัตกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขยายความผลวิจัยหรือผลการศึกษาที่อาจไม่ถูกต้อง ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ “การศึกษาความชุกของการเกิดโรคมะเร็งในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า: การศึกษาย้อนหลังแบบตัดขวางในช่วงเวลาหนึ่ง (Retrospective Cross-sectional Study)” ที่ได้รับการตีพิมพ์ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ภายหลังมีการสอบทวนทางวิชาการ (Peer Review) และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระเบียบการทำวิจัย การประมวลผลข้อมูล และความน่าเชื่อถือของข้อสรุป ซึ่งผู้จัดทำไม่สามารถให้ข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมหรือตอบคำถามได้ จึงทำให้บรรณาธิการของวารสารดังกล่าวต้องถอดงานวิจัยนี้ออก ทว่างานวิจัยนั้นได้ทำการขยายความออกไปในวงกว้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องได้

อนึ่ง ความคืบหน้าของการพิจารณาการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมายในประเทศไทยนั้น คณะอนุฯ ได้นำเสนอแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าต่อกมธ.ชุดใหญ่เป็นที่เรียบร้อย โดยมี 3 ทางเลือกเชิงนโยบายคือ 1) การแบนเบ็ดเสร็จทั้งหมด 2) การแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย และ 3) การให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดควบคุมด้วยกฎหมาย ขึ้นกับว่าประเทศไทยจะเลือกเดินทางตามประเทศส่วนใหญ่ของโลก กว่า 84 ประเทศที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจัดการปัญหาเด็กและเยาวชน หรือยังคงแบนต่อไป

ดังนั้นเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินทุกรูปแบบ และขณะเดียวเพื่อให้มั่นใจว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่ยังคงลดลงต่อเนื่อง จึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างการช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่ให้ได้รับอันตรายที่น้อยลงกับการปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากยาสูบทุกชนิด เพราะแม้ว่าแนวโน้มการบริโภคยาสูบจะลดลง แต่ก็ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดอัตราการบริโภคยาสูบร้อยละ 30 ภายในปี 2025 อย่างที่ได้วางแผนไว้ได้

ที่มา:

• Tobacco use declines despite tobacco industry efforts to jeopardize progress (who.int)

• Tobacco use declining globally, despite industry efforts, WHO says | Euronews

• Tobacco Product Use Among U.S. Middle and High School Students — National Youth Tobacco Survey, 2023 | MMWR (cdc.gov)

• The National Health and Nutrition Survey (NHNS) Japan, 2019

• วารสารการแพทย์ระดับโลกถอนงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบอ้างมั่วทำเสี่ยงมะเร็งเพิ่ม (mgronline.com)

No comments

Powered by Blogger.