Header Ads

สวพส. ชู “บ้านปางแก” จังหวัดน่าน เป็นชุมชนบนพื้นที่สูงตัวอย่าง ที่คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน



บ้านปางแก เป็นหมู่บ้านพี่น้องม้ง อยู่ในอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ต้นน้ำอยู่บนดอยสูงห่างไกล อดีตชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย พืชหลักที่สร้างรายได้คือ กระหล่ำปลี และข้าวโพด หมุนเวียนและขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ พื้นที่ภูเขาหัวโล้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมีการบุกรุกป่า แต่ชาวบ้านก็ยังยากจน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาใดๆ ชาวบ้านยังขาดความรู้ และมีปัญหายาเสพติดในชุมชน

ต่อมาในปี 2558 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้รับบ้านปางแกเข้ามาเป็นพื้นที่หนึ่งในการพัฒนา ด้วยการนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงเข้าไปต่อยอดและพัฒนา ช่วยสร้างโอกาสให้กับชุมชนบ้านปางแกอย่างเท่าเทียมและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันบ้านปางแก มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยเกษตรมูลค่าสูง เพิ่มอาชีพทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน คืนพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาภูเขาหัวโล้นให้กับจังหวัดน่าน
 

นายสุวรรณ กรีติธนาวัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านปางแก อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน กล่าวว่า บ้านปางแก เป็นพื้นที่บนดอยสูง ปัญหาดั้งเดิมคือการทำไร่เลื่อนลอย ไม่มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง ขาดความมั่นคงทางรายได้ เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวน ทำให้เกิดการบุกรุก ต่อมาชุมชนได้รับองค์ความรู้จากสวพส. เกี่ยวกับการปลูกไม้ผลและพืชผักเมืองหนาวที่มูลค่าสูง เช่น การปลูกองุ่น และการทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้พื้นที่น้อยแต่สร้างรายได้มากเพียงพอต่อการดำรงชีพได้ ปัจจุบันชุมชนมีการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์พืชปลอดสารพิษ มีการดูแลเรื่องการตลาด ทั้งการรับซื้อและส่งจำหน่าย และแบ่งปันรายได้ให้กับสมาชิก
 

นายสมบัติ สารใจ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า การพัฒนาบ้านปางแกนั้นเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยชุมชน การเริ่มจากความต้องการของชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาในชุมชนเอง เกิดเป็นความร่วมมือ ความเสียสละ มุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำชุมชน/ผู้นำเกษตรกร เรียนรู้ได้เร็ว มีการประชุมวางแผนร่วมกัน เกษตรกรทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ มีการพัฒนาผู้ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านเพื่อดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำกันได้เองโดยพึ่งเจ้าหน้าที่น้อยที่สุด และหัวใจสำคัญคือ การมีหน่วยงานพี่เลี้ยงประจำในพื้นที่ คือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ 5 (พมพ.5) เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนชุมชนทุกด้าน อำนวยความสะดวก ประสานงานต่างๆ ให้ชุมชนเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้พร้อมใช้ คือองค์ความรู้จากโครงการหลวงและงานวิจัย สวพส.ที่ทดสอบมาแล้วว่าใช้ได้ผลจริง ทำให้กระบวนการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ผู้นำเกษตรกรทำได้รวดเร็ว ลดเวลาลองผิดลองถูก เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนแก้ปัญหาถูกจุด ตรงเป้าหมาย ตรงใจ ตรงความต้องการ ทำให้แก้ไขปัญหาได้จริง 
 

นายนัน อาชาบุญญาฤทธิ์ ผู้นำเกษตรกรบ้านปางแก จังหวัดน่าน กล่าวว่า แต่ก่อนคนในหมู่บ้านปางแก นิยมปลูกกะหล่ำปลี พืชผักระยะสั้น เป็นรายได้แต่ได้ผลผลิตไม่ดีและมีปัญหาราคาต่ำ ต่อมาสวพส. ได้มาส่งเสริมแนะนำให้ปลูกไม้ผลยืนต้น อาทิ ไม้ผลเมืองหนาว และกาแฟใต้ร่มเงาไม้ป่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้ ดีกว่าการปลูกกะหล่ำปลีแบบเดิมมาก

ปัจจุบันชุมชนบ้านปางแกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการที่มีทางเลือกอาชีพใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีสิทธิทำกินอย่างเหมาะสม สร้างรายได้จากเกษตรมูลค่าสูงและปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล มีรายได้เฉลี่ยเพิ่ม 4.75 ล้านบาทต่อปี และได้รับโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เกิดความยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งด้านการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘สมดุล’
 

ในปี 2567 บ้านปางแกถือเป็นชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาพื้นที่สูงที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่เยี่ยมเยียนของ สวพส.ทั้งหมด 73 กลุ่มบ้าน และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ 1-10 รวมถึงเกษตรกร และประชาชนที่สนใจทั่วประเทศอีกด้วย

No comments

Powered by Blogger.