Header Ads

แพทย์เตือนผู้หญิงอย่าชะล่าใจ ‘ปวดท้องต้องตรวจ’ เสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์




“โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่ส่งผลกระทบคุณภาพชีวิตผู้หญิง สูตินรีแพทย์ไทยร่วมรณรงค์ “ปวดท้องต้องตรวจ” เน้นสังเกตอาการ 3 ปวด นั่นคือ ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ เสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์ แนะนำพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ย้ำเป็นโรคเรื้อรังควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ผู้ป่วยผ่าตัดนำซีสต์ออก ตัดมดลูกแล้ว หรือมีบุตรแล้วก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก


3 สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ พญ. กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม และพญ. มาริสา ทศมาศวรกุล ร่วมสนทนาในรายการ Expert Treat Expert Talk Live 2024 ในหัวข้อ “ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับช็อกโกแลตซีสต์” สนับสนุนโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis Awareness Month)


พญ. กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางมะเร็งสตรีและผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้กันเป็นจำนวนมาก สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัดแต่เชื่อว่าเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไหลย้อนกลับไปพร้อมประจำเดือนไปเจริญผิดที่ฝังในบริเวณต่าง ๆ ซึ่งเจริญผิดที่ได้ทั่วร่างกาย แต่ที่พบบ่อย ๆ คือที่รังไข่เกิดเป็นช็อกโกแลตซีสต์ มดลูกโต (พังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก) และมีอาการแสดงตามมา

สำหรับช็อกโกแลตซีสต์เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ชนิดหนึ่ง โดยมีซีสต์เกิดขึ้นที่รังไข่และมีสีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ อาการที่ทำให้เราสงสัยโรคนี้ จะมีอาการที่สัมพันธ์กับรอบเดือน เช่น ปวด หรือมีเลือดออกผิดปกติช่วงใกล้หรือตอนมีประจำเดือน


ด้าน นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและเจ้าของเพจการแพทย์แปดนาที กล่าวว่า สำหรับอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์ มักมาด้วยอาการปวด ได้แก่ 1.ปวดประจำเดือน 2.ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือ 3.ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ อาการปวดประจำเดือนไม่ควรมองข้ามเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่คิดว่าการปวดท้องในช่วงที่มีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากอาการปวดประจำเดือนที่เคยเป็นค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น หรือมีปวดร้าวไปบริเวณอื่น ๆ เช่น ปวดเวลาปัสสาวะหรืออุจจาระ เป็นต้น ส่วนในกรณีปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจมีอาการปวดท้องในขณะที่ไม่มีประจำเดือนอยู่เสมอ ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้ ขณะที่อาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์นั้น ผู้หญิงจะรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ ปวดลึก ๆ เนื่องจากการกระแทกอาจทำให้มดลูกไปโดนรอยโรคและทำให้มีอาการปวดตามมา ในบางกรณีผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันจนต้องหยุดเรียน หรือหยุดทำงาน

นอกจากนั้น โรคนี้ยังสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก ซึ่งสาเหตุที่ผู้หญิงที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์มีบุตรยากเกิดจากปัญหาด้านโครงสร้างเช่น พังผืด ทำให้อสุจิไม่สามารถผสมกับไข่ได้ นอกจากนี้การเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิง ก็ส่งผลต่อการมีบุตรอีกด้วย ซึ่งพบว่าผู้หญิงที่มีบุตรยากประมาณ 50% มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

พญ. กรพินธุ์ กล่าวว่า “สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องไม่ต้องกังวลกับการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคช็อกโกแลตซีสต์ แพทย์จะทำการซักประวัติอาการปวดต่าง ๆ ตรวจร่างกายและตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์ประกอบการวินิจฉัยเพื่อความแม่นยำ ไม่ต้องกลัวเรื่องการตรวจ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจภายในมีหลายขนาดที่เหมาะสมกับผู้หญิงแต่ละราย รวมถึงมีอุปกรณ์ที่เหมาะกับผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน”

สำหรับแนวทางการรักษา แพทย์จะวินิจฉัยและวางแผนการรักษา เริ่มจากการให้ยารับประทานก่อน ส่วนการผ่าตัดเพื่อนำซีสต์ออกจะใช้กรณีสำรองในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีก้อนขนาดใหญ่ แต่หลังผ่าตัดไปแล้วก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าผ่าตัดไปแล้ว 5 ปีก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงถึงร้อยละ 50-70 ดังนั้นหลังการผ่าตัดก็ยังแนะนำให้ใช้ยาป้องกันกลับเป็นซ้ำ โดยเฉพาะยา Dienogest ซึ่งมีข้อมูลการใช้ทั้งในประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น

นพ. โอฬาริก กล่าวว่า การรักษาด้วยยารักษามีให้เลือกหลายแบบ ทั้งยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน แต่การใช้ควรระวัง เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนทำให้ตัวโรคแย่ลงได้เช่นกัน ดังนั้น ปัจจุบันการใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวจึงเป็นที่นิยมซึ่งมีทั้งในรูปแบบฉีดและแบบรับประทาน เช่น ยาฉีดแม้ว่าจะรักษาอาการปวดได้ดีแต่ก็ทำให้น้ำหนักขึ้นและอาจไม่เหมาะในกรณีผู้ที่อยากตั้งครรภ์เนื่องจากยาฉีดจะอยู่ในร่างกายนาน ส่วนยารับประทานเช่น Dienogest ถือเป็นยาที่ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และเป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถลดขนาดซีสต์ได้ด้วย ส่วนอาการข้างเคียงก็เป็นที่ยอมรับได้ เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย เป็นต้น

ประเด็นที่สงสัยว่า การผ่าตัดนำมดลูกออกช่วยลดอาการของช็อกโกแลตซีสต์ได้หรือไม่ พญ. กรพินธุ์ กล่าวว่า ต้นเหตุของโรคมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งบริเวณที่ผลิตมาจากรังไข่ แต่การผ่าตัดนำมดลูกออกโดยทั่วไปจะเหลือบริเวณรังไข่ไว้ ในผู้ป่วยบางรายก็ไม่ได้ช่วยรักษาอย่างถาวร โดยเฉพาะโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ชนิดรุนแรงและฝังลึกเข้าไปในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าจะผ่าตัดให้หายขาดต้องผ่าตัดนำรังไข่ออกด้วย


พญ. มาริสา ทศมาศวรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาและผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบใดที่ผู้หญิงทุกคนยังมีประจำเดือน โอกาสเกิดโรคนี้ก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน และอาการปวดก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอให้กล้าที่จะพูดออกมาถึงอาการปวดของตนเอง และทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุได้ตรงจุด การวินิจฉัยที่เร็วจะนำไปสู่การรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะปัจจุบันการรักษาพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะยาซึ่งผ่านงานวิจัยสำหรับการรักษาโรคนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้

ด้าน พญ. ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพผู้หญิง ขอร่วมรณรงค์ผ่านแคมเปญ “Bayer For Her” และ #ปวดท้องต้องตรวจ #ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับโรคช็อกโกแลตซีสต์ เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญของการดูสุขภาพของตนเอง และอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามชมรายการ “Expert Treat Expert Talk 2024” ภายใต้หัวข้อ “ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับช็อกโกแลตซีสต์” ย้อนหลังได้ในช่องทาง Facebook และ TikTok ของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ประกอบด้วย พญ. มาริสา ทศมาศวรกุล : @marisatossamartvo, นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ : การแพทย์แปดนาที / @olarik_md, พญ. กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม : The Au ออ, Women expert / @Doctorkorapin สนับสนุนโดย Bayer For Her แคมเปญรณรงค์กระตุ้นให้ผู้หญิงปรึกษาปัญหาสุขภาพ รับคำวินิจฉัย และแนวทางการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ #ConversationsOfCare #เรื่องผู้หญิงพูดสิพูดได้

#ปวดท้องต้องตรวจ #ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับโรคช็อกโกแลตซีสต์

No comments

Powered by Blogger.