วช. - สอศ. เดินหน้าขับเคลื่อนนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ปี 67 พร้อมมอบรางวัลติดดาว 19 ผลงานเด่น
ผลงานสิ่งประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงการศึกษาธิการ จัดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่ม ศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2567 ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฯ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ฐานนวัตกรรม”
และมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ในสาขาต่าง ๆ และสถานศึกษาภาคกลางและภาคตะวันออกจำนวน 43 สถาบัน เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 18 – 20 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ สอศ. ได้วางกลไกการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง วช. จึงเร่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และเสริมสร้างทักษะที่สําคัญจําเป็น และสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการ อาชีวศึกษา กล่าวว่า หน้าที่ของ สอศ. ต้องการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงไปตอบโจทย์จากพัฒนาของประเทศ นอกจากจะมีทักษะด้านวิชาชีพ ด้านการบริการชุมชนสังคม สิ่งหนึ่งที่ทำให้กำลังคนอาชีวศึกษามีสมรรถนะสูงคือ
การเพิ่มกระบวนการคิดระบบการวิจัยนำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สอศ. ได้ส่งเสริมให้หลากหลาย สาขาอาชีพที่มีอยู่ นำกระบวนการวิจัยไปบูรณาการ จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อที่จะสร้างให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้กระบวนการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอีกด้วย ซึ่ง ดร.วิภารัตน์ฯ ได้กล่าวปิดกิจกรรม และมอบรางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษาที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 19 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่
กลุ่ม 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
1.ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
2.อาหารเป็ดสาวจากหอยเชอรี่ป่น (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
3.เครื่องตัดใบสับปะรด (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี
4.อุปกรณ์โยนกิ่งทุเรียน (รางวัลระดับ 5 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคตราด
กลุ่ม 2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
5.โต๊ะซ่อมนาฬิกาขนาดเล็กเพื่อสุขภาพ (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์
6.เครื่องฆ่าเชื้อเสมหะผู้ป่วยวัณโรค (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
7.เครื่องฝึกสหสัมพันธ์ของมือและตา (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
8.ชุดป้อนลวดเชื่อมแก๊สสำหรับผู้พิการทางมือ (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี
กลุ่ม 3) การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ
9.สื่อการเรียนรู้โลจิสติกส์ เรื่อง กิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีเกวลินบริหารธุรกิจ
10.แคชเชียร์ตรวจจับสินค้าด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี
11.แอปพลิเคชันเกมจำลองโลกเสมือนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ทาง
แขนและมือจากภาวะโรคหลอดเลือดในสมอง (รางวัลระดับ 5 ดาว) จาก วิทยาลัยอาชีวะศึกษาเพชรบุรี
กลุ่ม 4) ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
12.เตาปิ้งย่างไร้ควันลดโลกร้อน (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง
13.เครื่องอบแห้งอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดหมุนเวียนความร้อน (รางวัลระดับ 3 ดาว)จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี
14.ชุดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
15.เครื่องลดฝุ่นควันเตาเผามะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว
กลุ่ม 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
16.การส่งเสริมการออมโดยการสร้างบอร์ดเกม The Rise of Life (รางวัลระดับ 3 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์
17.เกมวิชวลโนเวลเพื่อการเรียนรู้ เรื่อง ภูมิปัญญาไทย ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ (รางวัลระดับ 3ดาว) จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ
18.อุปกรณ์ช่วยปูเตียง (รางวัลระดับ 4 ดาว) จาก วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
19.หม้อทองไอศกรีมรสหม้อแกง (รางวัลระดับ 5 ดาว) จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายอาชีวศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการขยายเครือข่ายในการบ่มเพาะนักประดิษฐ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษาที่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก
เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมต่อไป
No comments