วช. และศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีนำเสนอผลการวิเคราะห์และผลสำเร็จ พร้อมรับฟังความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผลการดำเนินงาน “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์” พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนารายงานผลการดำเนินงานต่อไป โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วช. และ การประเมินผลสัมฤทธิ์งานวิจัย เพื่อขับเคลื่อนสู่การใช้ประโยชน์” โดย รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงาน “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์” กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมด้วยที่ปรึกษาแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนฯ คณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ ผู้บริหารวช. และคณะนักวิจัยเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมเวทีสาธารณะครั้งนี้ เป็นการรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปี ของแผนงาน “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์” รวมทั้ง เป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานในภาพรวม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลให้มีความเหมาะสมสมบูรณ์ และเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยที่ วช. ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อร่วมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของประเทศ ในหลายแผนงานวิจัยที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนงานท้าทายไทย แผนงานมุ่งเป้า ทั้งในลักษณะชุดโครงการ แผนงานขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการเป็นภาคีเครือข่าย ทั้งในส่วนของผู้บริหารแผนงาน ผู้ขับเคลื่อนในระบบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จของการดำเนินงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินงานในส่วนต่อขยายด้านการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นอกเหนือจากการติดตามประเมินโครงการรายปี โดยเป็นการติดตามประเมินหลังโครงการเสร็จสิ้น เพื่อให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของผลผลิตจากงานวิจัยในมิติที่กว้างขึ้น ซึ่ง วช. คาดหวังว่าการดำเนินงานของแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนฯ จะส่งมอบชุดข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และเป็นต้นแบบการทำงานในแผนงานอื่น ๆ ที่ วช. ให้การสนับสนุนต่อไป
ถัดมา ดร.วิภารัตน์ฯ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วช. และ การประเมินผลสัมฤทธิ์งานวิจัย เพื่อขับเคลื่อนสู่การใช้ประโยชน์ กล่าวว่า วช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญ คือ วช. เป็นผู้นำการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมุ่งเน้นนำผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยในทุกระดับมาวิเคราะห์ถึงความพร้อมใช้และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ทั้งประชาชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้าง โดยพิจารณาทั้งความเป็นไปได้ทางวิชาการ ที่สามารถเชื่อมโยงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สังคม และสาธารณประโยชน์ รวมทั้งเกิดทรัพย์สินทางปัญญาจากการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลประโยชน์แก่ประเทศ ตามหลักพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็น ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ปีที่ 2 ในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่นักวิจัยได้แลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นกันในเรื่องของแผนงานวิจัยที่จะยกระดับสู่การพัฒนาประเทศ รวมถึงให้กำลังใจแก่นักวิจัยที่มีความอุตสาหะในการคิดค้นงานวิจัยใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานฯ กล่าวว่า ภาพรวมแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การใช้ประโยชน์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก วช. ในปี 2557 – 2562 และในปี 2563 – ปัจจุบัน จากแผนงานทั้ง 7 กิจกรรมได้แก่
กิจกรรมที่ 1) การประเมินผลภาพรวม
กิจกรรมที่ 2) ประเมินความพร้อมใช้ทางเทคโนโลยี
กิจกรรมที่ 3) ผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามหลัก OECD/DAC
กิจกรรมที่ 4) ประเมินความคุ้มค่า
กิจกรรมที่ 5) จัดทำกรณีศึกษาโครงการวิจัยที่เป็นเลิศ
กิจกรรมที่ 6) การขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ และ
กิจกรรมที่ 7) การพัฒนาฐานข้อมูลสู่การใช้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่าในส่วนของ
กิจกรรมที่ 3) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ 4 แผนงานวิจัย ประกอบด้วย ท้าทายไทยฯ 49 โครงการ Water Security 20 โครงการ PM 2.5 32 โครงการ และ Zero Waste Thailand 36 โครงการ โดยศึกษาความคุ้มค่าของผลงานวิจัย ของโครงการในปี 2563 จำนวน 137 โครงการ โดยใช้แนวทางการประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ผลสัมฤทธิ์ตามเกณฑ์ OECD/DAC โดยสอดคล้องกับหมุดหมาย 13 ประการ ซึ่งการประเมินระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี และความพร้อมทางด้านสังคม การนำไปใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนผลักดันสู่ผู้ใช้เป้าหมาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน รวมไปถึงการออกแบบจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็น “ศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์” ปีที่ 2 ผลสำเร็จจากผลการดำเนินงานจะนำไปสู่ชุดข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในทิศทางการพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
No comments