Header Ads

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีเลือกภาชนะ อุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟให้ปลอดภัย

 01-%E0%B8%A3%E0%B8%A8.%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B9%8C-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94-e1704277421985.jpg


อาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาฯ ย้ำภาชนะพลาสติกสามารถใช้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย ระบุต้องใช้พลาสติกสำหรับเข้าเตาไมโครเวฟเท่านั้น ชี้การทดลองในต่างประเทศที่พบไมโครพลาสติกในน้ำยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ขอผู้บริโภคอย่าเพิ่งตระหนก

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เตาไมโครเวฟ เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับอุ่นอาหาร โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ไมโครเวฟ ทำให้อาหารสุกได้ในระยะเวลาสั้น มีความปลอดภัย อำนวยความสะดวกในการปรุงอาหารได้มาก โดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ เหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ จึงเป็นที่นิยมในทุกครัวเรือน

สำหรับกลไกการทำงานของเตาไมโครเวฟ เกิดจากน้ำที่อยู่ในอาหาร ซึ่งดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ไมโครเวฟได้ดีที่สุด ทำให้โมเลกุลของน้ำสั่นสะเทือน เสียดสีจนเกิดความร้อนขึ้น ทำให้อาหารร้อนและสุก ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันตรายกับมนุษย์ และสามารถพบเจอคลื่นไมโครเวฟได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เร้าเตอร์ ไวไฟ (router wifi)

การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ ยังคงคุณค่าสารอาหารมากกว่าการให้ความร้อนชนิดอื่น เพราะใช้ความร้อนในระยะเวลาที่น้อยกว่า ทั้งนี้คลื่นไมโครเวฟไม่มีการทิ้งของเสียหรือสารเคมีลงไปในอาหาร เพราะเป็นเพียงคลื่นที่วิ่งผ่านไปมา จึงไม่ได้ก่อให้เกิดเป็นมะเร็ง

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ข้อควรระวัง ในการใช้เตาไมโครเวฟ ควรเลี่ยงภาชนะที่เป็นโลหะ เช่น จาน-ชามที่มีขอบทอง หรือ ช้อนส้อม ที่อาจเผลอใส่เข้าไป แม้แต่ฟอยล์ก็ตาม คลื่นไมโครเวฟที่เจอโลหะ จะทำให้อิเล็คตรอนที่อยู่ในโลหะขยับไปมาอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดประกายไฟทำให้ตู้เสียหายได้ ส่วนการระเบิดเกิดจากการนำอาหารบางอย่างเข้าไป อาทิ การทำไข่ต้ม เพราะภายในไข่มีน้ำอยู่ ความร้อนจะทำให้น้ำขยายตัวและเกิดความดันขึ้นทำให้ไข่แตกระเบิดได้ ส่วนภาชนะที่เหมาะสมสำหรับใส่เตาไมโครเวฟ คือ จานกระเบื้อง แก้ว และเซรามิก”

นอกจากนี้ หากเป็นภาชนะพลาสติก ควรเลือกใช้ภาชนะพลาสติกคุณภาพดีสำหรับเข้าเตาไมโครเวฟเท่านั้น ซึ่งสังเกตได้โดยพลิกดูเครื่องหมายสามเหลี่ยม ซึ่งจะมีตัวเลขระบุชนิดของพลาสติก โดยเบอร์ 1 จะเป็นพลาสติกประเภท PET (Polyethylene Terephthalate) และเบอร์ 5 จะเป็นประเภท PP (Polypropylene) ที่สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้เพราะมีจุดหลอมเหลวสูง ข้อควรระวังแม้ว่าจะเป็นพลาสติก PET แต่ต้องมีระบุว่า ไมโครเวฟเซฟ (Microwave Safe) ด้วย โดยผู้ผลิตที่เชื่อถือได้และใส่เครื่องหมายนี้บนภาชนะ แสดงให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าภาชนะพลาสติกนั้นสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่แนะนำให้นำกลับมาใช้ซ้ำ

กรณีการเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่องเตาไมโครเวฟ โดยนำผลงานวิจัยจากหลายแห่งมารวมกัน และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการสลายตัวของพลาสติกเป็นไมโครพลาสติกด้วยการใช้เตาไมโครเวฟ โดยผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยทดลองนำขวดนม PP ของเด็กใส่น้ำและเติมกรดลงไปเล็กน้อย เป็นการจำลองเหมือนใส่อาหาร จากนั้นนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ 3 นาที และนำไปตรวจหา ไมโครพลาสติก หรือ นาโนพลาสติก พบว่ามีจำนวนในระดับ พันล้านชิ้น ต่อพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตรของพลาสติก จากนั้นมีการทำวิจัยต่อ โดยนำเนื้อเยื่อของตับไปแช่ในสารละลายที่มีไมโครพลาสติกปริมาณสูง พบว่าเนื้อเยื่อเหล่านั้นตาย แต่งานวิจัยสองส่วนนี้มีความเข้มข้นของปริมาณไมโครพลาสติกต่างกันมากถึงหลักล้านเท่า จึงไม่สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยกันได้โดยตรงว่าไมโครพลาสติกทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อตับของผู้บริโภค

แม้ว่าการวิจัยดังกล่าว จะพบไมโครพลาสติกอยู่จริง และกล่าวอ้างว่าเด็กที่กินนมจากน้ำที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟจะได้รับไมโครพลาสติก แต่ไม่ได้เป็นปริมาณที่ยืนยันทางการแพทย์ว่ามากพอที่จะทำให้เด็กได้รับอันตราย ทั้งนี้ ไม่เคยมีการทดลองกับมนุษย์ด้วยการดื่มน้ำและเจาะเลือดหาไมโครพลาสติก จึงไม่อาจทราบได้ว่าร่างกายสามารถกำจัดไมโครพลาสติกเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด แม้จะพบงานวิจัยในหนู หรือเนื้อเยื่อของหนูบางสายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปริมาณนั้นถือว่าน้อยหรือมากและอันตรายหรือไม่

ทั้งนี้ไมโครพลาสติกยังสามารถพบได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำ เช่น เวชสำอาง ลิปมัน เกลือ หรือแม้แต่ถุงชา จึงยังต้องใช้การวิจัยอีกพอสมควรจึงจะทราบถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งปัญหาของการทดลองประเภทนี้ คือ ขาดกลุ่มควบคุม (control group) เพราะปัจจุบันไม่มีมนุษย์ที่ไม่เคยเจอไมโครพลาสติกเลย มาทดลองเจาะเลือดเพื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ที่เจอไมโครพลาสติกอยู่เป็นระยะในชีวิตประจำวัน

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟยังไม่เคยพบปัญหาที่ทำให้มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคภัย ทั้ง ๆ ที่มีการใช้เตาไมโครเวฟอย่างแพร่หลายเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันที่ดีว่าอาหารที่อุ่นจากเตาไมโครเวฟไม่สร้างปัญหาสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ สิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักคือ การเลือกภาชนะที่ใช้อย่างเหมาะสม และเตาไมโครเวฟต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะมั่นใจในการใช้งานเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย

02-microwave-scaled-e1704277438159.jpg

No comments

Powered by Blogger.