ก้าวเล็กๆ บนเส้นทางของคนเป็น “มะเร็งปอด” จุดประกายพลังใจที่เข้มแข็ง เผชิญวันใหม่ด้วยรอยยิ้ม
“มะเร็งเป็นเพียงโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งเราไม่อาจทราบได้เลยว่าเราจะเป็นหรือไม่เป็น ดังนั้น เราอย่าไปคิดถึงตรงนั้น ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตตามปกติ ยังเป็นคนทำนู่นนี่อยู่ตลอด โดยที่เราไม่เคยสนใจเลยว่ามะเร็งจะก้าวไปถึงขั้นไหน เพราะนั่นคือหน้าที่ของคุณหมอ ส่วนหน้าที่ของเราคือการดูแลร่างกายที่คุณหมอจะรักษา” นส. ศุภาทร กัลยาณสุต หรือ คุณนก ผู้ป่วยมะเร็งปอด พูดถึงโรคมะเร็งปอดที่เป็นภัยอันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
จากตัวเลขสถิติ*ในประเทศไทยพบว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้ชายมากเป็นอันดับที่ 2 ส่วนผู้หญิงอยู่อันดับที่ 4 แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ ไม่ว่าจะเพศไหนหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม ทั้งนี้ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน ทำให้มีทางเลือกการรักษาโรคมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้นมาก และสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่เข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ยังมีหนทางให้รอดชีวิตได้นานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
*มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตทั่วโลกมากที่สุด พบมากเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย เกิดขึ้นในผู้ชายเป็นอันดับ 2 พบใน้หญิงเป็นอันดับที่ 4 (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2021)
ตามจุดประสงค์ของมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) ที่ต้องการรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอกย้ำเป้าหมายในการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลเพื่อการรับมือกับโรคที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ว่าการคัดกรองมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม ทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งจึงมีการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคมะเร็ง และส่งต่อเรื่องราวประสบการณ์ พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนคำถามกับผู้ที่ยังต่อสู้และใช้ชีวิตกับมะเร็งปอดในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมและสร้างสรรค์สื่อเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อดีตผู้ป่วย และผู้ดูแล ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ยังช่วยกระชับมิตรกลุ่มคนที่เข้าใจซึ่งกันและกันอีกด้วย
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดทั่วประเทศ นส. ศุภาทร กัลยาณสุต ผู้ป่วยมะเร็งปอด หรือ “คุณนก” เล่าถึงประสบการณ์เส้นทางการรักษามะเร็งปอดที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 9 ปีที่แล้ว โดยที่คุณนกไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง อีกทั้งตนยังประกอบอาชีพผู้ช่วยแพทย์แผนไทยและหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ จึงเรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกชีวิตเมื่อคุณนกตรวจพบมะเร็งปอดผ่านการตรวจคัดกรองประจำปี อย่างไรก็ตาม คุณนกไม่เคยมีคำถามว่า “จะหายหรือเปล่า” หรือ “เป็นระยะที่เท่าไหร่” มีแต่ถามว่า “เราจะเริ่มรักษากันยังไง” สะท้อนให้เห็นถึงใจที่สู้ไม่ย่อท้อแม้ในวันที่จิตตกและแม้ว่าจะไม่มียาวิเศษที่สามารถทำให้หายขาดจากโรคในระยะที่ 4 ได้ เพราะคุณนกทราบดีว่าเราสามารถชะลอการดำเนินของโรคได้ด้วยการเข้ารับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน แต่สิ่งที่ผู้ป่วยควรตระหนักอยู่เสมอคือเราต้องไม่ประมาทโรคมะเร็งปอดเพื่อได้รับประสิทธิภาพจากการรักษาอย่างสูงที่สุด เห็นได้จากการที่คุณนกไม่เคยพลาดการนัดเพื่อติดตามอาการ เพราะการมีวินัยและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอมีแต่จะส่งผลดีต่อการรักษาในระยะยาว
และเมื่อพูดถึงการรักษาโรคมะเร็งปอด หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ “ความพร้อมของร่างกาย” เพราะถ้าหากร่างกายเราแข็งแรง เราจะมีโอกาสรับมือกับผลข้างเคียงของยาได้ดีขึ้น โดยคุณนกได้เล่าถึงตอนที่ตนได้เข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัดกับผลกระทบจากยาคือขาอ่อนแรงจนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเข้าห้องน้ำ ยังเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน แต่ต้องสู้เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ซึ่งกรณีของคุณนกแสดงให้เห็นว่าเราควรมีแรงพอที่จะดูแลตัวเองได้ในระดับหนี่งเพื่อแบ่งเบาภาระของคนรอบข้างที่เขาต้องดูแลเรา
ด้าน ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ หรือ “คุณหมอบัว” ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า 10 ปี และผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง ในฐานะผู้ดูแลที่ไม่ทันได้เตรียมใจก่อนทราบข่าวว่าคุณแม่เป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คุณแม่ดูแข็งแรงและปกติดีทุกอย่าง ทั้งไม่มีอาการ ไม่มีไข้ น้ำหนักไม่ลด และไม่ได้ไอเรื้องรังแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อตรวจเจอมะเร็งปอดแล้ว คุณแม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา เริ่มด้วยเคมีบำบัด โดยเหตุผลที่คุณแม่วัย 70 ปี สามารถเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้เป็นเพราะร่างกายแข็งแรง โดยตลอดทั้ง 10 ปีของการรักษาผ่านการรักษาผสมผสานในการแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และรังสีรักษา คุณหมอบัวได้มีการติดตามอาการของคุณแม่มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันคุณหมอบัวยังคงแบ่งปันเรื่องราวเส้นทางการรักษาของคุณแม่ในเพจ สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง เพื่อเป็นการให้ความรู้และกำลังใจแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วประเทศไทยและในต่างประเทศ
สำหรับผู้ดูแลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยอย่างคุณหมอบัวกับคุณแม่ ก้าวแรกมักจะยากที่สุดเสมอ โดยผู้ดูแลอาจมีความวิตกกังวล แต่พอตั้งสติได้จะสามารถปรับตัวไปพร้อมกับผู้ป่วย คุณหมอให้ผู้ป่วยปฎิบัติตัวอย่างไรผู้ดูแลจะเรียนรู้และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้ามีผลข้างเคียงหรืออะไรที่ต้องจัดการ ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลจะช่วยกันรับมือไปด้วยกันเพราะหน้าที่ของผู้ดูแลคือการทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด อย่างในเรื่องของอาหารการกินที่ถือเป็นความชอบเฉพาะบุคคล แต่เพื่อไม่ให้กระทบกับการรักษา อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่นในช่วงที่คุณแม่เข้ารับการเคมีบำบัด จำเป็นต้องเน้นทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด สด ใหม่ รวมถึงหลีกเลี่ยงน้ำแข็งและผักสดหรือผลไม้ที่ปอกสำเร็จ โดยจะต้องนำกลับมาจัดการเองที่บ้านเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารสะอาดจริง ซึ่งผู้ดูแลจะต้องศึกษาและจัดหาสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้และหลีกเลี่ยงผลไม้บางชนิดที่อาจส่งผลให้ยามุ่งเป้าออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งอยากรณรงค์คือเรื่องของการตรวจคัดกรองโรค ถ้ารู้สึกว่ามีอาการผิดปกติอย่าชะล่าใจ อยากให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อไปตรวจจะดีที่สุด และสำหรับผู้ที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการติดตามอาการ ไปพบแพทย์ตามนัดและหมั่นดูแลตัวเองให้ดี เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่าเราจะเป็นอะไรหรือเมื่อไหร่ สุดท้ายนี้เราอยากบอกกับทุกคนที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งว่าการเป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับตาย เพียงแค่เราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เราก็จะสามารถยิ้มรับวันใหม่ได้ทุกคน
No comments