Header Ads

สัตวแพทย์ จุฬาฯ ผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขด้วยนวัตกรรมใหม่

 im-120167_778336-copy.jpg


โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วในสุนัข (Mitral Valve Regurgitation) หรือโรคลิ้นหัวใจไมตรัลเสื่อมในสุนัข (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคหัวใจในสุนัขที่พบได้มากที่สุดราว 70 – 80 % ส่วนใหญ่พบในสุนัขที่มีอายุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขพันธุ์ขนาดเล็กและกลาง ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาเป็นการรักษาหลัก

im-120167_778335-copy-1.jpg

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วโดยการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัด โดยอาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อีก 6 ท่านจากโรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และโรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท ซึ่งประสบความสำเร็จในการผ่าตัดสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วยวิธีดังกล่าวเป็นเคสแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 และเคสที่สองเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้มีแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้สุนัขฟื้นตัวเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้หัวใจสุนัขจะปรับสภาพใหม่และช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต การรักษาด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ Mitral clamp นี้มีการทำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มจากการนำมาใช้ผ่าตัดในคนและใช้ในสัตว์ในเวลาต่อมา โดยในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน

รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลอง จุฬาฯ เปิดเผยว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขจะพบเพิ่มขึ้นตามอายุของสุนัขที่มากขึ้น โรคนี้แบ่งออกเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ และระยะที่แสดงอาการแล้ว สุนัขที่ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ไอ หอบ จนถึงระยะรุนแรงคือน้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต สุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายขึ้นไปหัวใจห้องบนซ้าย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะเลือดไหลย้อนกลับไปที่ปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ วิธีการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัดสามารถทำได้ในสุนัขพันธุ์ที่มีความชุกของโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิสุ ชิวาวา ฯลฯ โดยการผ่าตัดเปิดที่ช่องอกสุนัขต้องใช้ทีมงานฝ่ายต่างๆ ในการทำงานประสานกัน

เจ้าของสุนัขที่สนใจจะนำสุนัขที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วมารักษาด้วยวิธีการโดยการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัด สามารถนำสุนัขมาตรวจว่าสามารถผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการนี้ได้หรือไม่ โดยติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หรือที่โรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และโรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท

im-120167_778334-copy.jpg

รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ ฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและสังเกตอาการสุนัขที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งโรคหัวใจ หากพบอาการในเบื้องต้น เช่น สุนัขเหนื่อยง่ายผิดปกติ มีอาการไอ ถ้าตรวจเจอในระยะต้นก่อนที่จะมีอาการน้ำท่วมปอดสามารถรักษาให้หายได้ทั้งการให้ยาหรือจะใช้วิธีการผ่าตัดก็ได้

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022”

2024-02-26-Repair-Mitral-Valve-Regurgitation-in-Dogs-1-1.jpg

No comments

Powered by Blogger.