Header Ads

บพข.ผนึกกำลังสถาบันฯสิ่งทอ เดินหน้าโปรเจ็กต์บิ๊กเร่งวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดัน SME สิ่งทอก้าวสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve


หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดินหน้าโปรเจ็กต์บิ๊กเร่งวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดัน SME สิ่งทอก้าวสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี

14 ก.พ.67 นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศ เพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการเจริญเติบโตด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงลึกในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมมุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs) ขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม






อุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถปรับตัวและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน สิ่งทอทางการแพทย์ (Medical textiles) สิ่งทอทางการเกษตร (Agro-textiles) สิ่งทอเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial textiles) สิ่งทอยานยนต์ (Automotive and Aerospace) เป็นต้น




อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญคือการยากที่จะนำงานวิจัยส่วนใหญ่ออกสู่เชิงพาณิชย์ บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหรรมสิ่งทอ ดำเนิน “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสิ่งทอด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านนาโน วัสดุ ชีวภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ สู่อุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve” ปีงบประมาณ 2567






โดยช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตสู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นคนกลางและเป็นกลไกบริหารงาน (Intermediary) และเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (IBDS) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมี IDEs อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีรายได้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี และเติบโตสู่การมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ในอนาคต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน



ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ในฐานะสถาบันฯเป็นคนกลางและเป็นกลไกบริหารจัดการ (Intermediary) และดำเนินงานหลักภายใต้กิจกรรมดังกล่าว ในปี 2567 นั้น ได้วางแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการหรือ IDEs ประกอบไปด้วย 3 แนวทางคือ การหมุนเวียน (Circularity) การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และ การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digitalization) โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่

1.สร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า (Product Innovation)
2.ยกระดับกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรม (Process Innovation)
3.พัฒนาด้านการตลาดด้วยนวัตกรรม (Market Innovation) และ
4.การพัฒนารูปแบบธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Organization Innovation)
 


โดยมุ่งให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Business Plan) และการพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Innovation Transfer) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้ามูลค่าทางเศรษฐกิจคือ เพิ่มยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในระบบ

มูลค่าทางด้านสังคม ผู้บริโภคได้ใช้นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถผลิตเองได้ภายในประเทศ

มูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกระบวนการ จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของสารพิษต่าง ๆ ลดการปล่อยของเสีย ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์








อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการดังกล่าวในภาพรวม คาดว่าจะสามารถยกระดับผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ (IDEs) และต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าในรูปแบบของนวัตกรรมแบบเปิดได้ ส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว




สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org และ facebook : Thailand Textile Institute

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนธันวาคม 2566

 

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนธันวาคม 2566

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 483.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 314.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 169.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 404.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.0 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 225.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 179.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 78.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 6,033.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,993.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,040.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.4 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า ในปี พ.ศ. 2566 ของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 5,074.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.2 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,210.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.0 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,864.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 959.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


 

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก





เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า การส่งออกปรับตัวลดลงเกือบทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)


ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)






การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 73.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และบังกลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0, 118.9 และ 36.1 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,020.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดจีนและปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 และ 33.3 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาในปีดังกล่าว พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5


 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)


การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.4, 2.5 และ 22.6 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 502.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.0, 19.7 และ 11.6 ตามลำดับ


 

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 90.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดกัมพูชาและบังกลาเทศ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.2 และ 31.1 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดเวียดนามในเดือนนี้ พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,056.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.0, 14.9 และ 30.3 ตามลำดับ


 

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 169.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0, 10.8 และ 10.9 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,040.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.3, 5.8 และ 35.3 ตามลำดับ



ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า นำเข้าลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และลดลงเกือบทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยกเว้นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 (YoY) โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

 

 

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 95.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ลดลงร้อยละ 9.8, 21.6 และ 24.9 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,459.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าลดลงจากตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 14.4 และ 34.3 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายของไทยจากตลาดญี่ปุ่นในปีนี้ พบว่า ค่อนข้างทรงตัว โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1




ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)







การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 129.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าผ้าผืนลดลงจากตลาดจีนและไต้หวัน ลดลงร้อยละ 1.3 และ 17.9 แต่นำเข้าผ้าผืนจากตลาดเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,750.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าลดลงจากตลาดจีนและไต้หวัน ลดลงร้อยละ 12.5 และ 35.0 ขณะที่การนำเข้าผ้าผืนของไทยจากตลาดเวียดนามในปีนี้ พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5



ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนธันวาคม 2566 และภาพรวมในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)



การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 133.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน อิตาลี และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6, 9.3 และ 11.3 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9, 27.7 และ 24.7 ตามลำดับ


ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)


ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้

การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม ลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่หากพิจารณาถึงการส่งออกในรายตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และบังกลาเทศ พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5, 40.6 และ 8.5 ตามลำดับ

การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่หากพิจารณาถึงการส่งออกในรายตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6, 5.0 และ 16.3 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7, 8.8 และ 49.8 ตามลำดับ

และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 15.0 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเบลเยียมในเดือนนี้ พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ 6.6


ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)






และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้

การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 27.3 และ 25.1 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายของไทยจากตลาดเวียดนามในเดือนนี้ พบว่า ค่อนข้างทรงตัว โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.01

การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน ลดลงร้อยละ 10.6, 11.0 และ 19.4 ตามลำดับ

และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดเวียดนาม ลดลงร้อยละ 14.3 ขณะที่การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของไทยจากตลาดจีนและอิตาลีในเดือนนี้ พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และ 1.8


ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนธันวาคม 2566 และสรุปปี พ.ศ.2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)






สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่า 483.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการปรับตัวลดลงตลอด Supply Chain ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ของปี พ.ศ.2566 และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นที่ในเดือนนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.4 (YoY)

และภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี พ.ศ. 2566 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะเดียวกันตลาดส่งออกสำคัญ ใน 5 อันดับแรก พบว่า การส่งออกไปยังตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 (YoY)

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี พ.ศ. 2567 คาดการณ์ว่า การผลิต คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การส่งออกและจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกสินค้าเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว รวมทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยเช่นกัน

No comments

Powered by Blogger.