Header Ads

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ติดอาวุธความรู้ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด แนะนำการลดภาระทางการรักษาและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที

 Lung%20Cancer%20Talk_01


“มะเร็งปอดเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ทั่วโลกที่สูงมาก ซึ่งข้อมูลของ GLOBOCAN ปี พ.ศ.2563 ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ป่วยใหม่จำนวนกว่า 2.2 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 1.8 ล้านคนต่อปี นอกจากที่หลายชีวิตต้องสูญเสียจากโรคนี้ มะเร็งปอดยังเป็นหนึ่งในโรคที่สร้างภาระทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย”

เพื่อเป็นการให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมากยิ่งขึ้น มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) ได้จัดงาน Steps of Strength ก้าวเล็กๆ บนเส้นทางของคนเป็น “มะเร็งปอด” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด โดยภายในงานได้มีการพูดคุยหารือในหัวข้อเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด การตรวจวินิจฉัยและกระบวนการรักษาโรค และความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด ทั้งนี้เพื่อเป็นการติดอาวุธความรู้ให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทีดำเนินรายการโดย คุณ ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และอดีตผู้ป่วยมะเร็ง

เนื้อหาในงานเสวนาครั้งนี้ ได้รวมเอาเรื่องราวและปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการ “สูบบุหรี่” ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่นอกเหนือจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke) ที่มาจากการได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือปัจจัยเรื่องอายุที่เพิ่มขึ้นและเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลาจนอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด รวมไปถึงการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) เช่น “ก๊าซเรดอน” (Radon) หรือแม้กระทั่งการสูดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ล่าสุดมีข้อมูลสนับสนุนว่าอาจจะเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น โดยสำหรับมะเร็งปอดนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ “มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก” (Small Cell Lung Cancer) และ “มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก” (Non-Small Cell Lung Cancer) ที่ในปัจจุบันพบเจอได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก



 

Lung%20Cancer%20Talk_02

สำหรับข้อควรระวังเกี่ยวกับมะเร็งปอดไม่ใช่แค่อาการของโรค แต่ยังรวมไปถึง “การตรวจคัดกรอง” ด้วย มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยเพิ่งตรวจเจอฝ้าหรือความผิดปกติในปอดแต่ยังคงมีความสับสนในขั้นตอนการวินิจฉัยว่าจะสามารถแยกแยะมะเร็งปอดกับวัณโรคได้อย่างไร โดยคำตอบที่ถูกต้องคือต้องพิจารณาตามกรณี จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค หรือ ตรวจชิ้นเนื้อ หรือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ผู้ป่วยมะเร็งปอดบางคนอาจไม่มีอาการแต่พอไปตรวจสุขภาพประจำปีกลับเจอก้อนในปอด หรืออาการทางปอด เช่น ไอ เหนื่อย และเอ็กซ์เรย์ปอดเจอก้อนเนื้อหลายก้อน การตรวจขั้นตอนถัดไปคือการทำ CT Scan ที่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำกว่าการเอ็กซ์เรย์ปกติ เช่น ตำแหน่งของก้อนเนื้อ สำหรับขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งคือการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ทราบชนิดของมะเร็งปอด ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เจาะจงเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคลได้

ทั้งนี้ การตรวจชิ้นเนื้ออาจใช้เวลานานหลายวันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเคส ถ้าสามารถบอกได้เลยว่าเป็นมะเร็งชนิดไหนทันทีหลังตรวจก็จะเป็นอันจบขั้นตอนนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีการแยกชนิดเซลล์มะเร็งอาจต้องใช้เวลาตรงนี้อีกประมาณ 7-10 วันเพื่อระบุชนิดแบบชัดเจน จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจ “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ” (Biomarker) เช่น “ตัวรับเซลล์มะเร็ง” หรือ “การกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง” ที่ส่วนใหญ่มักตรวจในกลุ่มมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กและใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ โดยหากตรวจเจอการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งแล้ว แพทย์ก็จะสามารถเลือกการรักษาที่จำเพาะกับเซลล์มะเร็งชนิดนั้น เช่นยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ได้ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรอจนกว่าจะได้ผลตรวจที่ชัดเจนแทนการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ทันทีเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและรอได้


Lung%20Cancer%20Talk_03

พญ. กุลธิดา มณีนิล อายุรแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา กล่าวว่า “อันดับแรกเวลาเริ่มรักษาผู้ป่วยคือการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อมะเร็ง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือระยะของโรค ซึ่งโดยทั่วไปมะเร็งจะมี 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 กับ 2 ถือเป็นระยะเริ่มต้น มะเร็งปอดอาจอยู่ในช่องอกและยังไม่กระจายไปไหน แต่เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 อาจมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองตรงกลางช่องอก ส่วนมะเร็งปอดระยะที่ 4 จะมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ สมอง หรือกระดูก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระยะของโรคมีผลต่อการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา ซึ่งนอกจากขั้นตอนรอผลตรวจชิ้นเนื้อแล้ว ควรมีผล CT Scan หรือภาพเอ็กซ์เรย์ประกอบด้วยเพื่อประเมินระยะของมะเร็งและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ถ้าเป็นระยะเริ่มต้นเราก็จะเริ่มด้วยการผ่าตัดก่อนและตามด้วยการรักษาเสริมด้วยยา ซึ่งหลักๆ มี 3 ชนิด ได้แก่ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเราต้องมาดูว่ายาแต่ละชนิดจะเหมาะกับผู้ป่วยคนไหน”

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องอาหารการกิน ควรตระหนักเสมอว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษารองรับว่าอาหารสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่มีกลุ่มอาหารที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกายให้สามารถผ่านขั้นตอนการรักษาได้ง่ายขึ้นอย่าง “โปรตีน” ที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ในร่างกายจากผลข้างเคียงของยาชนิดต่างๆ ดังนั้นในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ และเน้นรับประทานโปรตีน แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรืออาหารหมักดองที่อาจทำให้ท้องเสียจนไม่สามารถรับยาได้

Lung%20Cancer%20Talk_04

ด้านคุณ ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า “ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากช่วยรณรงค์คืออยากให้สังคมตระหนักรู้ 2 อย่าง เราอยากเชิญชวนให้คนทั่วไปหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเป็นการคัดกรองว่ามีอาการผิดปกติที่ปอดหรือไม่ และเราอยากบอกว่าการเป็นมะเร็งปอด ยังสามารถมีชีวิตที่ดีได้ เป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับตาย ซึ่งเราอยากให้เห็นตัวอย่างผ่านกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดที่เขามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันว่าพวกเขาเหล่านี้ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้”

จึงเป็นที่มาของงาน Steps of Strength ก้าวเล็กๆ บนเส้นทางของคนเป็น “มะเร็งปอด” ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งในการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ป่วย ญาติและผู้ดูแลเพื่อการรับมือกับโรคที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ว่าการคัดกรองมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม โดยผู้ที่มีความสนใจในเนื้อหาสาระดีๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด สามารถคลิกที่นี่ เพื่อรับชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังบนเพจเฟซบุ๊ก Thai Cancer Society : TCS

No comments

Powered by Blogger.