สสว. ผนึกกำลัง ม.ธรรมศาสตร์ สร้างเครือข่ายธุรกิจ กับ 3 คลัสเตอร์แห่งอนาคต
5 กันยายน 2566 สสว. จับมือผนึกกำลัง ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ ปีงบประมาณ 2566 (SME CLUSTER IDOL) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในธุรกิจคลัสเตอร์อนาคต ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารในอนาคต และ อีสปอร์ตกับธุรกิจดิจิทัล
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยสำหรับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปีนี้ ถือเป็นปีที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นปีที่นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องเริ่มที่จะคลี่คลายความรุนแรงลง ยังเป็นปีที่ทางเราได้เริ่มแผนวิสัยทัศน์ใหม่ประจำปี พ.ศ.2566-2570 ที่ สสว. มุ่งมั่น เป็นผู้ชี้นำในการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพ MSME สู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณาการและผลักดันการส่งเสริม MSME (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) หรือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดกลาง ขนาดย่อม เพื่อให้ MSME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล การขับเคลื่อนของเราจึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่เป็นศักยภาพใหม่ของประเทศ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าการแข่งขันในเวทีสากล
สสว. ได้ดำเนินการ “โครงการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ”ซึ่งเป็นการยกระดับคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งสู่การพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึกพลังร่วมพัฒนาคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ โดยเลือกคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ จำนวน 3 คลัสเตอร์ ที่มีความน่าสนใจในแง่การเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาและมองไปอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่ คลัสเตอร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) คลัสเตอร์อาหารอนาคต (Future Food) และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างคลัสเตอร์อีสปอร์ต (E-Sports) ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อิโคโนมี ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคตในการขับเคลื่อนภาพรวมทางเศรษฐกิจ...
...โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและหาแนวทางการพัฒนาคลัสเตอร์รูปแบบต่างๆ การเพิ่มองค์ความรู้ ส่งเสริมคลัสเตอร์ให้เข้มแข็งมากขึ้น ให้สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ให้สามารถยกระดับเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อาทิ CRM ที่มาช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการในบริการลูกค้าแต่ละรายได้ รวมถึงยังสามารถนำข้อมูลลูกค้าที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบมาวิเคราะห์เพื่อทำการตลาด ส่งเสริมการขายได้เพิ่มขึ้นและ Generative AI ที่มาช่วยให้การสร้างเนื้อหา ทั้งในรูปแบบข้อความ เสียง รูป เพลง และโค้ด ได้อัตโนมัติ เป็นต้น
นางสาวอรพรรณ คงมาลัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 280 กิจการ ซึ่ง สสว. และ ธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม Audition อย่างเข้มข้น จนสามารถเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 162 กิจการ ซึ่งผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้น ผ่านโปรแกรม ให้รู้ลึก รู้เร็ว และรู้รอบ ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรชั้นนำของวงการ การให้สมาชิกในคลัสเตอร์หมุนเวียนกันมาเป็นวิทยากรในการสัมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการท่านอื่นๆ การให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบ One-on-One และ Group Consult เพื่อให้ สามารถนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปยกระดับธุรกิจ สร้างสายสัมพันธ์และ Networking ระหว่างผู้ประกอบการใน Supply Chain ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เฟ้นหา CDA และจัดทำแผนพัฒนาคลัสเตอร์ เพื่อเป็นแนวทาง ในการเชื่อมโยงและส่งเสริมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจอย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป
สสว. เคียงข้าง SME คู่คิดที่ดีผู้ประกอบการไทย
No comments